สหกิจศึกษา มทร.กรุงเทพ เดินหน้าสร้างทีมนักวิจัยเข้าร่วมโครงการ Talent Mobility

  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชูศักยฐ์ กมลขันติธร ผู้อำนวยการสำนักงานสหกิจศึกษา นำทีมคณาจารย์ นักวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ศึกษาดูงานสถานประกอบการ โครงการฝึกอบรมหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการดำเนินการโครงการ Talent Mobility ณ บริษัท การุณ กรีน กู๊ดส์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลไม้เมล่อน ตราอังเคิลบุ๊ง (UNCLE BOONK) และ บริษัท การุณฟาร์ม จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายสุกรขุน ต.บางน้ำเชี่ยว อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ในวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๑

จากแนวคิดของคุณพัฒนพงศ์ การุณยศิริ กรรมการผู้จัดการบริษัทการุณฟาร์ม จำกัด ได้เล่าถึงการเลี้ยงสุกรแบบครบวงจรโดยโรงเรือนอีแวปทั้งหมด เป็นแห่งแรกของประเทศไทย ทำธุรกิจโดยเน้นผลผลิตปริมาณ คุณภาพดีและปลอดภัยไม่ใส่สารเร่งเนื้อแดง ให้ความเย็นสบายโดยใช้ระบบอีแวปเต็มรูปแบบทำให้หมูกินอาหารได้มากโตไว อัตราแลกเนื้อสูง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยมีแนวคิดนำของเสียจากมูลสุกรมาผลิตเป็นไบโอแก๊สผลที่ได้คือ แก๊ส ไฟฟ้าและปุ๋ย และได้ก่อตั้งบริษัทการุณแก๊สฟรอมไบโอ จำกัด ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ และยังคิดสูตรผสมใหม่ๆเพื่ออัตราการเติบโตที่ดีขึ้น โดยผสมโยเกิร์ตให้กับสุกกรเล็กด้วย

ต่อมาให้ความสนใจเรื่องของผลไม้ ต้องการให้คนไทยได้ทานผลไม้ที่มีคุณภาพและปลอดสารพิษ จึงเริ่มศึกษาดูงานจากประเทศอิสราเอล ญี่ปุ่น และอิตาลี ซึ่งเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการปลูก และโรงเรือน จนมีการจัดตั้งบริษัท การุณ กรีน กู๊ดส์ จำกัด เป็นกรีนเฮ้าระบบอัจฉริยะที่มีความสูงมากกว่าปกติ 1 เท่าตัวและคลุมทั้งหมดด้วยพลาสติก ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ เรียกได้ว่าเป็น Smart Farmer โดยเลือกปลูกเมล่อน เลือกองค์ประกอบที่ดีที่สุดมารวมกัน ประกอบด้วยเมล็ดพันธุ์จากญี่ปุ่น วัสดุปลูกเป็นหินภูเขาไฟจากอินโดนีเชีย อุปกรณ์เครื่องจักรและโรงเรือนจากอิตาลี และมีผู้แนะนำเป็นผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิมีการรับรอง GAP กำลังดำเนินงานทำ ISO 9001 โดยผลผลิตปัจจุบันมีวางขายทั้งในประเทศและส่งออกต่างประเทศ

จากการศึกษาดูงาน คณาจารย์นักวิจัยให้ความสนใจกับโครงการฯครั้งนี้เป็นอย่างมาก เกิดแนวคิดเรื่องการสร้างเครื่องมือวัดค่าน้ำตาลที่ไม่ทำให้ผลไม้เสียหาย การแปรรูปเมล่อน การสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการออกแบบลวดลายบนผลเมล่อน รวมถึงการผลิตไฟฟ้าจากขี้หมู ไบโอแกส ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถต่อยอดธุรกิจได้อย่างดี สุดท้ายนี้สำนักงานสหกิจศึกษาขอเชิญชวนคณาจารย์นักวิจัยเข้าร่วมโครงการ Talent Mobility ต่อไป

Loading