‘เงาอดีต’จาก’จักรเย็บผ้า’เบื้องหลังชุดสวย’ยึดโยงปัจจุบัน’

หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ – ฉบับวันที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2559
เป็นผู้ช่วยการตัดเย็บ อยู่เบื้องหลังชุดเสื้อผ้าสวยเก๋เท่หลากดีไซน์มา โดยตลอด สำหรับ “จักรเย็บผ้า” ซึ่งจักรเย็บผ้า สีดำ ตัวหนักๆ ขับเคลื่อนฝีจักรด้วยแรงโยกจากขา
เป็นหนึ่งในรูปแบบจักรยุคแรก ก่อนพัฒนาเป็นจักรคอมพิวเตอร์ ให้ความสะดวกสบายและมีรูปแบบการใช้งานหลากหลายเพิ่มขึ้นแต่กระนั้น..”จักรยุคเก่า” ใช่ว่าจะสิ้นเสน่ห์…
ที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ที่นี่รวบรวมจักรหลากรุ่น จากการเรียนการสอนนับแต่ปี พ.ศ. 2482 จัดตั้งเป็น “พิพิธภัณฑ์จักรเย็บผ้า” เป็นแหล่งเรียนรู้ให้คนรุ่นหลังได้ทำความรู้จักกับอุปกรณ์สำคัญในการตัดเย็บ เสื้อผ้า หาคำตอบในการสร้างสรรค์ชุดสวย บอกเล่าวิวัฒนาการการตัดเย็บ…ด้วย “จักรเย็บผ้า” และ”ความสวยคลาสสิก”
ผศ.ดร.มลวิภา ภูลสนอง หัวหน้าสาขาวิชาการออกแบบแฟชั่น คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ เล่าว่า ในอดีตการตัดเย็บเสื้อผ้าที่สวมใส่จะเย็บด้วยมือ ต่อมามีการผลิตจักรขึ้นมาใช้ รูปแบบจักรแรก ๆ เป็นระบบมือหมุน จากนั้นเป็นจักรเย็บผ้าที่ใช้เท้าถีบ โดยประเทศแถบยุโรปเป็นแถวหน้าในการผลิต
จากจักรเย็บผ้าที่มีใช้ในครัวเรือน มาถึงจักรในระบบอุตสาหกรรม และพัฒนาต่อเนื่องมาถึงจักรรุ่นปัจจุบันซึ่งเป็น ระบบหูหิ้ว ใช้ไฟฟ้า ทันสมัย ทั้งยังอำนวยความสะดวกและสร้างสรรค์รูปแบบการตัดเย็บได้มากขึ้น… “จักรเย็บผ้าเป็นอุปกรณ์อย่างหนึ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกการตัดเย็บ สร้าง สรรค์เสื้อผ้าชุดสวย แต่ก่อนที่จะมีจักรเข้ามาใช้ การเย็บมือยังคงเป็นหลัก โดยการตัดเย็บใช้การด้น การสอยพับชาย เก็บริมผ้า สร้างความแข็งแรงให้กับชุดเสื้อผ้า โดยการด้นถอยหลัง ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบการเย็บ จะมีความเหมือนกับการเย็บด้วยฝีจักรทุกประการ”
“จักร เย็บผ้า” ที่รวบรวมจัดแสดงที่ “พิพิธภัณฑ์” นี้ เล่าเรื่องราวของจักรแต่ละยุคสมัย นับแต่ยุคที่ใช้เท้าเหยียบ จักรขาไม้ ขาเหล็ก จากยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ต่อเนื่องมาถึงเวลานี้ ซึ่งประกอบด้วย จักรมือหมุน, จักรขาใยแมงมุม, จักรเย็บผ้าขาไม้สัก, จักรอุตสาหกรรม ใช้เท้าถีบ และใช้เข่ายกตีนผี รวมถึงจักรรุ่นใหม่ ๆ
อีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญคือ จักรที่เคยใช้ในการเย็บรองพระบาท สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส โดยเย็บรองพระบาทเงิน รองพระบาททอง และรองพระบาทไหม อย่างละหนึ่งคู่ ซึ่งเจ้าของจักรได้บริจาคจักรให้กับพิพิธภัณฑ์จักรแห่งนี้
ผศ.ดร.มลวิภา ระบุเพิ่มอีกว่า คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ แต่เดิมคือ โรงเรียนการช่างสตรีบ้านทราย หรือการช่างสตรีพระนครใต้ ซึ่งมีการเรียนการสอนการตัดเย็บเสื้อผ้า จักรที่รวบรวมจัดเก็บเป็นจักรที่ใช้งานจริง และแม้จักรหลายคันจะไม่สามารถใช้งานได้แล้ว แต่ยังคงความงาม มีประวัติ เล่าเรื่องราวการตัดเย็บอย่างสมบูรณ์ จึงมีความคิดรวบรวมเป็นพิพิธภัณฑ์ เปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ให้คนรุ่นใหม่เข้าศึกษาเรื่องการตัดเย็บเสื้อผ้า ถ่ายทอดเงาอดีตเชื่อมโยงปัจจุบัน…
โดยมี “จักรเย็บผ้า” บอกเล่า…
“จักรเย็บผ้ามีใช้กันมายาวนาน แต่หากเป็นจักรในพิพิธภัณฑ์ จากประวัติสืบค้นย้อนกลับไปน่าจะมีความเป็นมาไม่น้อยกว่า 80 ปี ครั้งนั้นอาจารย์เป็นหัวหน้าพัสดุแผนกวิชาผ้าและเครื่องแต่งกาย ได้เห็นจักรเก่า รวมถึงอุปกรณ์ตัดเย็บที่เก็บอยู่ในห้องพัสดุ จึงมีแนวคิดนำมาจัดแสดง โดยต่อมาได้รับการเห็นชอบจึงเกิดเป็นพิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้ที่นี่ ที่เปิดกว้างให้กับทุกคนที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน”
จักรเก่า แม้ใช้งานไม่ได้ แต่ยังมีชีวิตชีวา และในความมีชีวิตชีวา ก็น่าจะรวมถึงการเชื่อมโยงการเรียนการสอน ซึ่งสิ่งที่เรียนรู้ได้จากจักรเย็บผ้าคือ วิวัฒนาการความก้าวหน้าการตัดเย็บเสื้อผ้า ทำให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นภาพอดีตโดยมีจักรเป็นสื่อ และ อีกสิ่งหนึ่งที่จะมองเห็น คือ ความเป็นครู ความเป็นแม่แบบ เพราะเมื่อมีจักร…ก็จะมีก้าวต่อไป…
“จักรเก่าผ่านการใช้งานมานาน แน่นอนว่าเมื่อนำมาใช้ย่อมไม่เหมือนกับจักรรุ่นใหม่ ๆ เป็นเรื่องธรรมดาของการเสื่อมสภาพไป ฝีจักรไม่แม่นยำ เย็บไม่เนี้ยบไม่แน่น ไม่เป๊ะเหมือนกับจักรรุ่นใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังคงปรากฏชัดคือ ประวัติศาสตร์ ความทรงจำ จักรเย็บผ้าแต่ละคันสามารถบอกเล่าเรื่องราวในอดีตเชื่อมโยงปัจจุบันได้” ผศ.ดร.มลวิภา กล่าวนอกจากจักร อีกส่วนที่จัดแสดงคือ “อุปกรณ์การตัดเย็บ” ต่าง ๆ เช่น หลอดด้าย ที่เป็นหลอดไม้และแกนเป็นกระดาษ ที่ต่างจากยุคปัจจุบันที่ส่วนใหญ่ทำจากพลาสติก ฯลฯ อุปกรณ์การวัดการตัดเย็บ อาทิ สายวัด ที่เป็นกระดาษเนื้อหนา ไม้บรรทัด ที่ทำจากไม้ จริง ๆ และมีทั้ง ไม้บรรทัดตรง ไม้บรรทัดโค้ง เครื่องวัดชายกระโปรง ที่ทำจากไม้ ฯลฯอีกทั้งยังมี เตารีด ที่ใช้ถ่านไม้ให้ความร้อน โดยที่จัดแสดงมี 2 ลักษณะ ลักษณะแรกคล้าย ๆ กับที่ใช้รีดผ้าทั่วไป ส่วนอีกหนึ่งลักษณะด้านบนเป็นเหมือนปล่องควัน เพื่อที่เวลาถ่านแตกตัวกระเด็นจะได้ไม่โดนเสื้อผ้าเสียหาย
“จักรเย็บผ้า” จากรุ่นเก่า สู่รุ่นใหม่ที่พัฒนารูปแบบทันสมัย อยู่ไม่ไกลจากการดำเนินชีวิตประจำวันของคนเรา ปัจจุบันจักรเย็บผ้าก็ยังคงทำหน้าที่สำคัญ เป็นเครื่องมือตัดเย็บเสื้อผ้า อยู่เบื้องหลังชุดสวย ๆ ที่เราสวมใส่กัน “จักรเย็บผ้า”ที่เคยมีอยู่คู่บ้าน ถึงวันนี้ก็ยังคงมีใช้กัน เพียงแต่อาจเปลี่ยนรูปแบบไป กะทัดรัดขึ้น เป็นจักรคอมพิวเตอร์ เป็นจักรหูหิ้ว
สำหรับจักรใหญ่ ๆ เช่นในวันวาน ก็ลดน้อยถอยหาย… แต่กระนั้น แม้ไม่ได้รองรับการตัดเย็บซ่อมแซมเสื้อผ้า จักรเก่าก็ใช่ว่าจะไม่เป็นที่พึงประสงค์ ไม่เช่นนั้นคงไม่มีการสะสม สร้างสรรค์เป็นของตกแต่งชิ้นงาม ซึ่งก็สะท้อนว่า… “คุณค่าจักรเก่า” ก็มีมิใช่น้อย. “แม้ใช้งานไม่ได้ แต่ยังมีชีวิตชีวา”

ภาพข่าวจากหนังสือพิมพ์ (click)

Loading