วิชั่นสถาบันการบิน’มทร.กรุงเทพ’

หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ – ฉบับวันที่ 08 พฤษภาคม พ.ศ. 2559
วิชั่นสถาบันการบิน’มทร.กรุงเทพ’มองถึงความได้เปรียบในการแข่งขันและขีดความสามารถระดับประเทศของไทยสะท้อนจากรายได้ต่อหัวประชากรเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
ในภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยยังคงติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มว่า ผู้ที่เรียนจบระดับปริญญาตรีเป็นหลักแสนคนขึ้นที่สุ่มเสี่ยงกับการตกงาน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่กระเตื้อง และ ทักษะความรู้ไม่สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจ
ผู้ที่จบการศึกษาตั้งแต่ระดับ ปวช.จนถึงปริญญาตรีจะมีประมาณ 300,000 คน ในจำนวนนี้จะมีนักศึกษาถึง 50% หรือประมาณ 150,000 คนอาจต้องตกงาน ขณะที่จำนวนบัณฑิตปริญญาตรีจบใหม่มีมากถึงปีละ 300,000-400,000 คน
ท่าม กลางสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นหน้าที่ของสถาบันการศึกษาที่จะมาทบทวนว่าทำ อย่างไรจึงจะผลิตบุคลากรเข้าสู่ตลาดแรงงานที่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจ สามารถยกระดับขีดความสามารถและสร้างรายได้ต่อหัวในระดับที่สูงขึ้น
“หาก จะผลิตเด็กจบปริญญาตรีแล้วได้เงินเดือน 15,000 บาท ทั้งที่ความจริงแล้วควรได้ค่าตอบแทนมากกว่านั้น โดยอยู่ที่36,000-50,000 บาทต่อเดือนน่าจะดีกว่าการผลิตเด็กจบปริญญาตรีแล้วยังคงติดกับดักรายได้ที่ 15,000-16,000 ต่อเดือน”ดร.สาธิต พุทธชัยยงค์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ (มทร.กรุงเทพ) กล่าว
“จากนั้น เราก็เริ่มมาตั้งต้นกลับมาที่คณะวิศวะแล้วมองว่าอุตสาหกรรมไหนที่อาศัยความ ชำนาญเดิมของเราบวกกับเทรนด์ของโลก ซึ่งที่สุดแล้วก็มาตกผลึกที่ช่างซ่อมอากาศยาน
ย้อนไปเมื่อสองปีก่อน เอาแนวคิดนี้ไปพูดกับใครก็ไม่มีใครเห็นด้วย ถึงวันนี้หากเปรียบการเข้าซื้อหุ้นถือว่าผมซื้อหุ้นถูกตัวแล้ว”
เพราะจากข้อมูลจากบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินระดับโลกอย่าง Airbus คาดถึงตัวเลขของผู้โดยสารที่เดินทางโดยเครื่องบินเพิ่มขึ้น 4.7% ต่อปี
ในปี 2013 มีจำนวนผู้โดยสารทางเครื่องบิน 2.9 พันล้านคน และเพิ่มเป็น 6.7 พันล้านคนในปี 2032
ปัจจุบันทั่วโลกมีเครื่องบินกว่า 27,000 ลำ และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นปีละ 950 ลำ อีกทั้งยังมีการประมาณการว่าในปี 2022 จะมีจำนวนเครื่องบินมากถึง 35,600 ลำ
ตัวเลขของนักบินแน่นอนว่ายังเป็นที่ต้องการอีกมากเมื่อพิจารณาจากจำนวนเครื่องบินที่จะทำการบินทั้งในปัจจุบันและอนาคต
หาก เจาะถึงความต้องการด้านช่าง เฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีความต้องการบุคลากรด้านช่างซ่อมอากาศยานเข้า มาทำงานในอุตสาหกรรมนี้ ปีละ 10,000 คนนั่นก็เป็นเหตุผลที่สถาบันการศึกษาแต่ละแห่งต่างก็พุ่งความสนใจมาผลิต บุคลากรด้านการบินมากขึ้นเมื่อเทียบกับอดีต
“ไม่แปลกใจที่ทุกมหาวิทยาลัย จะทำเรื่องธุรกิจการบิน เพราะอุตสาหกรรมนี้เติบโตอย่างมาก” อธิการบดี กล่าว แต่สำหรับ มทร.กรุงเทพจะทำแตกต่างออกไป “เปรียบได้กับการขายรถยนต์ป้ายแดงมาร์จิ้นจะไม่สูงมากนักแต่การจะทำมาร์จิ้น ได้ก็ตรงที่การซ่อมบำรุง”

ปัจจุบัน ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานมีขึ้นแล้วใน จีน สิงคโปร์ และมาเลเซีย ส่วนในไทย กำลังหลักด้านการผลิตบุคลากรด้านนี้ยังเป็นของสถาบันการบินพลเรือน
เมื่อวิสัยทัศน์กำหนดไว้ชัดเจนถึงบทบาทการเป็นสถาบันการศึกษาที่มุ่งผลิต บุคลากรด้านช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน อีกหนึ่งงานที่รุดหน้าอย่างเป็นรูปธรรมแล้วก็คือ การเปิดสถาบันการบินแห่งมหาวิทยาลัยราชมงคลกรุงเทพ
ภารกิจ “สถาบันการบินฯ”
สถาบันการบินฯ แห่งนี้นำโดย ดิฐภัทร ตันประดิษฐ์ ผู้อำนวยการสถาบันการบินแห่งมหาวิทยาลัยราชมงคลกรุงเทพโดยมีภารกิจหลัก คือ ผลิตบุคลากรช่างซ่อมให้กับอุตสาหกรรมการบิน

การจัดตั้งเป็นสถาบันฯ ภายใต้บริหารงานของบอร์ด เพื่อเป้าหมายการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพด้านทรัพยากร ได้แก่ งบประมาณ บุคลากร และอื่นๆ ซึ่งจะสร้างความคล่องตัวในการบริหารงานได้มากกว่าโครงสร้างระบบราชการ

โดย เฉพาะในส่วนของการสรรหา และพัฒนาบุคลากร ด้วยข้อดีของการบริหารจัดการโครงสร้างที่เป็นสถาบันฯ จะสามารถดึงคน (อาจารย์) เก่งๆ เข้ามาเสริมทีมด้วยอัตราค่าจ้างที่แข่งขันได้เมื่อเทียบกับระบบราชการที่มี ระเบียบต่างๆ มากมาย
ทฤษฎีเข้ม+ปฏิบัติจริง
หลักสูตรฝึกอบรมช่างซ่อม บำรุงอากาศยานมาตรฐาน EASA (EASA = European Aviation Safety Agency : องค์กรความร่วมมือด้านการบินในกลุ่มสหภาพยุโรป)ที่ มทร.กรุงเทพ ออกแบบให้ใช้เวลาศึกษาตลอดหลักสูตรประมาณ 2 ปี แบ่งออกเป็นการศึกษาทฤษฎี 1,200 ชม. อีก 1,200 ชม. เป็นปฏิบัติ
“หลักสูตรของเรา ทาง EASA กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ชัดเจนว่า ครูผู้สอนต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ผู้เรียนต้องได้ทำความรู้จักและเรียนรู้การใช้เครื่องมือจริง รู้ถึงกลไกการทำงาน รวมถึงได้ทดลองใช้ในห้องปฏิบัติการในการซ่อมเครื่องบินจริงด้วย”
ในการ เรียนภาคปฏิบัติที่กำหนดไว้ 1,200 ชั่วโมง แบ่งเป็น 2 ส่วน 600 ชั่วโมงแรก เป็นการเรียนการสอนให้ใช้เครื่องมือ เพื่อสร้างทักษะผ่านการเรียนรู้จากการได้ลงมือทำ
ส่วนอีก 600 ชม.จะส่งนักศึกษาไปเรียนรู้จริงการทำงานจริง เช่นการส่งไปฝึกงานที่บริษัทอุตสาหกรรมการบินหรือสายการบิน เช่น การบินไทย บางกอกแอร์เวย์
“มั่นใจว่า นักศึกษาจากหลักสูตรนี้สามารถไปทำงานได้ทันที จากการได้เรียนรู้และรู้จักเครื่องมือ การใช้งาน มาหมดแล้วผ่านการฝึกงานแบบ On the job Training”
สำหรับคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้เรียนต้องเป็นผู้ศึกษาจบในชั้นมัธยมศึกษาปี ที่ 6 หรือ ปวช. ขึ้นไป และมีพื้นฐานในการสื่อสารภาษาอังกฤษ
ค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร 2 ปี กำหนดไว้ที่ 490,000 บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับการไปเรียนในหลักสูตรเดียวกันนี้เปิดสอนในต่างประเทศถือ ว่าราคาต่ำมาก เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับการเดินทางไปเรียนที่ประเทศมาเลเซียจะมีใช้ค่าใช้ จ่ายประมาณ 800,000 บาท และในประเทศจีน ที่เปิดสอนอยู่ที่ประมาณ 700,000 บาท ซึ่งราคานี้ยังไม่รวมค่าครองชีพต่างๆ
ปัจจุบันมหาวิทยาลัย เปิดการเรียนการสอนนักศึกษาใน รุ่นที่ 1 ไปแล้วจำนวน 17 คน ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน 2559 โดยที่ขณะนี้มหาวิทยาลัยอยู่ในระหว่าง การเปิดรับสมัครนักศึกษารุ่นที่ 2 ที่จะเปิดเรียนในวันที่ 3 เดือนตุลาคม 2559
“คน” ขับเคลื่อนองค์กร
ภาพข่าวจากหนังสือพิมพ์ (click)

Loading