‘สาธิต’แจงผลงานก่อนหมดวาระ วางฐานแน่นปึ๊ก ทั้งคน กายภาพ งบฯส่งต่อ”นอนดีกรี”รับไทยแลนด์ 4.0

มติชน ฉบับวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2560 – ‘สาธิต’แจงผลงานก่อนหมดวาระ วางฐานแน่นปึ๊ก ทั้งคน กายภาพ งบฯส่งต่อ”นอนดีกรี”รับไทยแลนด์ 4.0
ดร.สาธิต พุทธชัยยงค์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ (มทร.กรุงเทพ) เปิดเผยผลงานรอบ 8 ปี ก่อนจะหมดวาระอธิการบดี ว่า สมัยแรกได้กำหนดแนวทางการพัฒนามหาวิทยาลัยไว้ 3 ด้าน
ได้แก่ 1. “ตอกย้ำ” คือ วิชาชีพ โดดเด่น ทำเป็น ทำได้ ใจกายเป็นสุข นั่นคือ เปิดสอนด้านวิชาชีพเป็นหลัก เน้น คิดเป็นทำได้และสร้างวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันของ มทร.กรุงเทพทั้ง 3 พื้นที่อย่างมีความสุข 2. “เทคโนโลยีเชิงสร้างสรรค์” โดยดึงมหาวิทยาลัยหลุดจากการเป็นช่างฝีมือมาสู่เทคโนโลยีเชิงสร้างสรรค์ คือ สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ กระบวนการใหม่ และบริการแบบใหม่ และ 3. “การสร้างต้นทุน” 4 ด้าน ได้แก่ ทุนมนุษย์ โดยส่งอาจารย์และบุคลากรไปศึกษาต่อทั้งในและต่างประเทศ พร้อมทั้งอบรมวิชาเฉพาะทางให้อาจารย์ที่ไม่สามารถไปเรียนต่อได้, ทุนทางการเงิน โดยนำเงินทุนที่มีอยู่ไปออกดอกออกผลในขอบเขตที่อธิการบดีทำได้ อีกส่วนหนึ่งให้ตลาดหลักทรัพย์ไปบริหารจัดการ นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการให้เช่าสถานที่ซึ่งเป็นการหารายได้ที่ไม่กระทบ ค่าเทอมของนักศึกษา, ทุนทางกายภาพ เช่น สร้างอาคารใหม่เพื่อรองรับการเรียนการสอนแบบใหม่ๆ ปรับภูมิทัศน์ภายในให้เป็นพื้นที่ สีเขียว และสุดท้ายคือ ทุนทางสังคม สร้างภาพลักษณ์และการรับรู้ที่ดีต่อสังคมเพื่อให้สังคม พ่อแม่ผู้ปกครองไว้วางใจส่งลูกหลานมาเรียน ทั้งหมดเป็นการวางรากฐานเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเรียนการสอนและการผลิตบัณฑิตตามแนวทางที่วางไว้ในสมัยที่ 2
อธิการบดี มทร.กรุงเทพ กล่าวว่านโยบายในวาระที่ 2 อย่างแรกคือ การปรับเปลี่ยนแนวทางการเรียนการสอนและการผลิตบัณฑิตให้สอดรับกับนโยบายการพัฒนาประเทศและการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก โดยเปิดสอนศาสตร์ใหม่ๆ ที่เป็นเทรนด์ของตลาดเพื่อให้เด็กที่จบออกไปมีคุณภาพและมีคุณค่า เริ่มจากการปรับการสอนจากที่เน้นปริญญาตรีมาเป็น Non Degree ในรูปแบบของประกาศนียบัตรหรือพรีเมี่ยมคอร์ส จบแล้วมีงานทำ มีรายได้ที่สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานปริญญาตรี โครงการแรกที่ทำและประสบความสำเร็จอย่างมากคือ หลักสูตรซ่อมบำรุงอากาศยาน ตอนนี้เปิดรับรุ่นที่ 3 แล้ว เรียนจบจะได้รับประกาศนียบัตรทางวิชาชีพ นำไปต่อยอดเพื่อขอใบรับรองจากเอียซ่า (EASA) เพราะฉะนั้นเด็กที่มีใบอนุญาตจากเอียซ่าจะมีรายได้อย่างต่ำ 6-7 หมื่นบาท นอกจากนี้ ยังมีสาขาอาชีพที่รองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ทั้ง First s-Curve และ New S-Curve แต่จะเลือกทำเฉพาะเรื่องที่เชี่ยวชาญหรือถนัดโดยจะเปิดสอนทั้งปริญญาตรีและ Non Degree เช่น งานชิ้นส่วนหุ่นยนต์ ที่มีความละเอียดและแม่นยำสูง (Precision) ในการประกอบหุ่นยนต์ ตัวชาร์จไฟแบบไร้สายเพื่อช่วยในเรื่องความปลอดภัยในรถยนต์ไฟฟ้า เรื่องพลังงานสะอาด รวมถึงสาขาที่เป็น Creative Economy เช่น ธุรกิจแฟชั่น, อาหารไทย-ฮาลาลที่พระนครใต้ ซึ่งจะมีร้านอาหาร ฮาลาล สไตล์โมเดิร์นให้บริการนักท่องเที่ยว ในมื้อกลางวันด้วย นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรคอร์สเมติกส์ร่วมกับสมาคมผู้ผลิตเครื่อง สำอาง มี โฮม แอนด์ ลิฟวิ่ง สื่อมัลติมีเดีย ท่องเที่ยวที่เน้นด้านภูมิปัญญาไทย เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดได้เตรียมงบประมาณรองรับไว้แล้ว สามารถดำเนินการได้เลย

“เป้าหมายของเราคือเปิดสอนในสาขา ที่เด็กจบออกไปแล้วมีงานทำ มีรายได้ที่ดี โดยที่ไม่ต้องจบปริญญาตรี แต่ไม่ได้เลิกปริญญาตรีที่เปิดสอนอยู่เดิมก็ทำไป แต่จะค่อยๆ ปรับมาทำนอนดีกรีมากขึ้น เชื่อว่าอนาคตเด็กที่จบในสาขาวิชาที่เป็นศาสตร์ใหม่ทั้งหลักสูตรปริญญาตรีและนอนดีกรีจะต้อง ได้เงินเดือน 3 หมื่นบาทเป็นอย่างต่ำ และ เด็กจบไป 85% ได้งานทำภายใน 6 เดือน แต่สิ่งที่ผมอยากเห็นและอยากให้ทำต่อ คือเด็กสามารถเลือกเรียนวิชาของคณะหรือ สาขาวิชาอื่นที่สนใจได้เพื่อให้สามารถนำไปต่อยอดอาชีพหรือเรียนต่อในระดับสูงได้ ซึ่งทั้งหมดเป็นนโยบายที่เสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อให้อธิการบดีคนใหม่สานต่อ สุดท้าย ผมอยากเห็น มทร.กรุงเทพ จัดการศึกษาและผลิตบัณฑิตโดยยึดทิศทางหรือนโยบายของประเทศเป็นหลัก โดยเอาความเชี่ยวชาญหรือความถนัดเป็นตัวตั้ง” อธิการบดี มทร.กรุงเทพ กล่าวทิ้งท้าย

ภาพข่าวจากหนังสือพิมพ์ (click)

Loading