มทร.กรุงเทพจับมือ”อินทรีเหล็ก”สางปมขาดแคลน”ช่างซ่อมบำรุงเครื่องบิน” ปั้นหลักสูตร”มาตรฐานเอียซ่า”

หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ – ฉบับวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2559
ช่างซ่อมบำรุงเครื่องบินขาดแคลน !!! ปัญหาที่แวดวงการบินของประเทศไทยกำลังเผชิญหน้า และส่อแววว่าอาจจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นหากไม่เร่งแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที

ทั้งในแต่ละวันทั่วโลกจะมีเครื่องบินที่ทะยานสู่ท้องฟ้ามากถึง 40,000 ลำและนับวันจะยิ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้น เพราะเครื่องบินถือเป็นพาหนะในการเดินทางที่มีความรวดเร็วและสะดวกสบาย แต่สิ่งสำคัญที่สุดซึ่งไม่สามารถปฏิเสธได้นั่นก็คือเรื่องของความปลอดภัย เพราะในแต่ละเที่ยวบินจะมีชะตาชีวิตของผู้โดยสารจำนวนมากฝากไว้บนเที่ยวบินนั้นๆ
หากเปรียบเครื่องบินเสมือนร่างกายมนุษย์ นักบินก็คงหนีไม่พ้นที่จะต้องเป็นหัวใจ ขณะที่ช่างซ่อมบำรุงเครื่องบินก็คงเปรียบได้กับสมองที่คอยดูแล ตรวจตราให้เครื่องยนต์กลไกทุกส่วนของอากาศยานหรือเครื่องบินสามารถทำงานได้เต็มศักยภาพเพื่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของผู้โดยสาร โดยเครื่องบิน 1 ลำจะต้องการช่างที่คอยดูแลเครื่องประมาณ 10-13 คน ซึ่งในอนาคตเมื่อมีความต้องการใช้เครื่องบินเพิ่มขึ้น นั่นย่อมหมายถึงความต้องการช่างซ่อมบำรุงเครื่องบินก็จะต้องเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
ช่างซ่อมบำรุงเครื่องบินจึงถือเป็นหนึ่งวิชาชีพที่ไม่ควรมองข้าม
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ (มทร.กรุงเทพ) เล็งเห็นถึงความสำคัญของเรื่องนี้ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง สถาบันการบินแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ที่จะเปิดสอนในเดือน เม.ย.นี้
และนั่นคือที่มาของการนำคณะไปเยี่ยมชมการเรียนการสอนของ Malaysian Institute of Aviation Technology (MIAT : เมียส) ประเทศมาเลเซีย ซึ่งถือว่าเมียสเป็นมหาวิทยาลัยที่ประสบความสำเร็จและมีภูมิประเทศที่คล้ายกับไทย ระหว่างวันที่ 9-11 มี.ค.ที่ผ่านมา โดย ดร.สาธิต พุทธชัยยงค์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ นำทีม ซึ่ง ทีมข่าวการศึกษา ได้มีโอกาสร่วมคณะครั้งนี้ด้วย
ดร.สาธิต กล่าวว่า การเลือกมาดูงานที่ประเทศมาเลเซีย เนื่องจากเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการสอนเกี่ยวกับอากาศยานที่ได้รับมาตรฐานเอียซ่าเช่นกัน นอกจากนี้ยังเป็นมหาวิทยาลัยที่มีเครื่องบินหลายรุ่นให้นักศึกษาได้ทำการฝึกซ่อมบำรุงเครื่องบินในส่วนต่างๆ ดังนั้นจึงเหมาะที่จะใช้เป็นแบบอย่างในการเรียนการสอนของนักศึกษาที่มาเรียนกับทาง มทร.กรุงเทพในอนาคตได้เป็นอย่างดี
อธิการบดี มทร.กรุงเทพ ยังเล่าถึงการจัดตั้งสถาบันการบินแห่ง มทร.กรุงเทพ ด้วยว่า ขณะนี้ธุรกิจการบิน โดยเฉพาะเชิงพาณิชย์เติบโตรวดเร็ว และจะเติบโตอย่างมากในอนาคต ขณะที่กำลังคน โดยเฉพาะช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน กลับขาดแคลนมาก ผลิตไม่เพียงพอและยิ่งเป็นช่างที่ได้รับรองมาตรฐานจากองค์กรรับรองความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป หรือเอียซ่า (EASA) ยิ่งมีน้อย ด้วยเหตุนี้ มทร.กรุงเทพจึงได้ริเริ่มทำและยังถือเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกของไทยที่เปิดหลักสูตรภายใต้มาตรฐานเอียซ่า ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่ากระบวนการต่างๆ รวมถึงอาจารย์ผู้สอน ได้ผ่านการฝึกอบรมและรับรองมาตรฐานจากเอียซ่าแล้ว
“มทร.กรุงเทพ ได้ร่วมกับบริษัท แอโร่ บิวดุง จำกัด ประเทศเยอรมนี ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรซ่อมบำรุงอากาศยาน ภายใต้มาตรฐานเอียซ่ามานานกว่า 2 ปีแล้ว โดยได้รับการรับรองให้จัดการสอนใน 2 สาขา คือ แมคคานิกส์ และการควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ภายในเครื่องบิน ซึ่งมหาวิทยาลัยมีเป้าหมายเปิดรับนักศึกษาเข้าเรียนหลักสูตรดังกล่าวใน 2 สาขา สาขาละ 2 รุ่นต่อปี รุ่นละ 25 คน โดยในปี 2559 เป็นปีแรกมีนักศึกษาที่ผ่านการสอบคัดเลือก 17 คน แต่เบื้องต้นจะเปิดเพียงสาขาแมคคานิกส์ก่อน และจะเริ่มสอนในเดือน เม.ย.นี้ โดยในทุกๆ 6 เดือนทางเยอรมนีจะส่งเจ้าหน้าที่มาประเมินประสิทธิภาพ” อธิการบดี มทร.กรุงเทพ ขยายภาพถึงหลักสูตรภายใต้มาตรฐานเอียซ่า
โดยในส่วนของกระบวนการเรียน นักศึกษาจะต้องผ่านการอบรมใน 17 โมดูลใช้เวลา 18-24 เดือน หรือ 2,400 ชั่วโมง แบ่งเป็นวิชาการและภาคปฏิบัติอย่างละครึ่ง โดย 600 ชั่วโมงแรกจะฝึกปฏิบัติใช้เครื่องมือหรือฝึกซ่อมในห้องปฏิบัติการ และอีก 600 ชั่วโมง จะไปฝึกปฏิบัติภาคสนาม ซึ่ง มทร.กรุงเทพ ได้ทำความร่วมมือกับบริษัทอุตสาหกรรมการบิน จำกัด รับนักศึกษาไปฝึกปฏิบัติด้วย
นอกจากนี้เมื่อสำเร็จการศึกษา ผู้เรียนจะได้รับประกาศนียบัตรทางวิชาชีพและสามารถนำไปประกอบอาชีพและต่อยอดเป็นใบอนุญาตของเอียซ่า ตามมาตรฐานนั้นๆได้ ซึ่ง มทร.กรุงเทพมีความพร้อมมาก โดยปัจจุบันมีอาจารย์
ผู้สอน 12 คน และยังได้ร่วมกับ มทร.อีก 8 แห่ง จัดส่งอาจารย์เข้ารับการอบรมต่อเนื่องตั้งเป้าว่าในปี 2560 จะมีอาจารย์ผู้สอนทั้งสิ้น 30 คน และในปีงบประมาณ 2560 นี้ กระทรวงศึกษาธิการจะตั้งงบสำหรับจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือในการเรียนการสอนประมาณ 80 ล้านบาท สะท้อนได้ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญในการผลิตกำลังคนสาขาเหล่านี้
ทีมการศึกษา มองว่าการที่ มทร.กรุงเทพ จัดตั้งสถาบันการบินแห่ง มทร.กรุงเทพ ทั้งยังได้รับการรับรองมาตรฐานเอียซ่า น่าจะสามารถช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนช่างซ่อมบำรุงเครื่องบิน ทั้งยังเป็นการเพิ่มศักยภาพด้านการบินของไทยที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับทั่วโลกที่จะโดยสารเครื่องของไทย
แต่สิ่งหนึ่งที่เราคงต้องขอฝากนอกเหนือจากการเข้มงวดในการจัดการเรียนการสอนภายใต้มาตรฐานเอียซ่าอย่างเอาจริงเอาจังแล้ว การสร้างจิตสำนึกรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะเรื่องความละเอียด รอบคอบ ความระมัดระวัง การไม่ประมาท เลินเล่อ ตลอดจนจรรยาบรรณต่อวิชาชีพ ก็เป็นเรื่องที่ต้องไม่มองข้ามโดยเด็ดขาด
เพราะความผิดพลาดแม้กระทั่งจากนอตเพียงตัวเดียว อาจหมายถึงการนำชีวิตของผู้โดยสารไปแขวนอยู่บนเส้นด้าย
และอาจเลวร้ายถึงขั้นกลายเป็นโศกนาฏกรรม ที่ต้องสังเวยด้วยความสูญเสียชีวิตจำนวนมาก!!!
ทีมการศึกษา

ภาพข่าวจากหนังสือพิมพ์ (click)

Loading