มทร.กรุงเทพเปิดหลักสูตรการบินเอียซารับรอง

หนังสือพิมพ์ ไทยโพสต์ – ฉบับวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2559
มทร.กรุงเทพเปิดหลักสูตรซ่อมบำรุงอากาศยานตามมาตรฐานเอียซา เรียน 2 ปีได้ประกาศนียบัตรที่ต่อยอดเป็นไลเซนส์สากลได้ ‘สาธิต’ ยันเป็นเจ้าแรกในไทยที่เอียซ่ารับรอง จบแล้วได้ค่าจ้างสูง เป็นที่ต้องการของสายการบินทั่วโลก รับรุ่นแรก 17 คน เริ่มเรียน เม.ย.นี้
ดร.สาธิต พุทธชัยยงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ (มทร.กรุงเทพ) เปิดเผยว่า มทร.กรุงเทพได้ร่วมกับบริษัท แอโร่ บิวดุง จำกัด ประเทศเยอรมนี ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรซ่อมบำรุงอากาศยาน ภายใต้มาตรฐานขององค์กรรับรองความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป หรือเอียซา (EASA) มานานกว่า 2 ปีแล้ว โดยได้รับการรับรองให้จัดการสอนใน 2 สาขา คือ สาขาแมคคานิกส์ และสาขาการควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ภายในเครื่องบิน ซึ่ง มทร.กรุงเทพมีเป้าหมายเปิดรับนักศึกษาเข้าเรียนหลักสูตรดังกล่าวในทั้ง 2 สาขา สาขาละ 2 รุ่นต่อปี รุ่นละ 25 คน โดยปี 2559 ซึ่งเป็นปีแรกที่จะรับนักศึกษาจะเปิดเพียงสาขาแมคคานิกส์ก่อน โดยเปิดรับสมัครและประกาศผลผู้สอบผ่านการคัดเลือกไปแล้ว 17 คน เริ่มเรียนในเดือน เม.ย.นี้ ส่วนรุ่นที่ 2 จะเริ่มรับสมัครเดือน ต.ค.นี้
อธิการฯ กล่าวต่อว่า สำหรับกระบวนการเรียนนั้น นักศึกษาจะต้องผ่านการอบรมใน 17 โมดูล ใช้เวลาเรียน 18-24 เดือน หรือ 2,400 ชั่วโมง แบ่งเป็น วิชาการ 1,200 ชั่วโมง และภาคปฏิบัติ 1,200 ชั่วโมง โดย 600 ชั่วโมงแรกจะฝึกปฏิบัติใช้เครื่องมือหรือฝึกซ่อมในห้องปฏิบัติการ และอีก 600 ชั่วโมงจะต้องไปฝึกปฏิบัติภาคสนาม ซึ่ง มทร.กรุงเทพได้ทำ ความร่วมมือกับบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด รับนักศึกษาไปฝึกปฏิบัติด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อสำเร็จการศึกษาผู้เรียนจะได้รับประกาศนียบัตรทางวิชาชีพ และสามารถนำไปประกอบอาชีพและต่อยอดเป็นใบอนุญาตของเอียซาตามมาตรฐานนั้นๆ ได้ ทำให้มีรายได้สูง สำหรับค่าเล่าเรียนตลอดหลักสูตร 2 ปี 490,000 บาท จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ
ดร.สาธิตกล่าวอีกว่า ปัจจุบันบุคลากรด้านการบินกำลังเป็นที่ต้องการมาก ประมาณการว่าปัจจุบันมีผู้โดยสารเครื่องบินทั่วโลก 3 พันล้านคน และในอีก 20 ปีข้างหน้า คาดว่าจะเพิ่มเป็น 6.3 พันล้านคน ดังนั้น อุตสาหกรรมอากาศยานจะเติบโตเพิ่มอีก 3 หมื่นลำ โดยเฉพาะสายการบินโลว์คอสต์มีราว 20,000 ลำ ดังนั้น นักบินและช่างซ่อมบำรุงอากาศยานจะขาดแคลนหนักมาก ผลิตไม่เพียงพอ โดยเฉพาะช่างที่ได้รับรองมาตรฐานระดับสากล มทร.กรุงเทพจึงได้ริเริ่มคิดหลักสูตร ด้านการบิน เป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกและแห่งเดียวของไทยที่เปิดหลักสูตรภายใต้มาตรฐานเอียซา จึงมั่นใจในกระบวนการต่างๆ ตั้งแต่อาจารย์ผู้สอนก็ผ่านการฝึกอบรมและรับรองมาตรฐานสากล โดยปัจจุบันมีอาจารย์ผู้สอนของ มทร.กรุงเทพ 12 คน และยังได้ร่วมกับ มทร.อีก 8 แห่งจัดส่งอาจารย์เข้ารับการอบรมต่อเนื่อง ตั้งเป้าว่าในปี 2560 จะมีอาจารย์ผู้สอนทั้งสิ้น 30 คน นอกจากนั้น ในปีงบประมาณ 2560 กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ให้การสนับสนุนจัดงบประมาณสำหรับจัดซื้ออุปกรณ์ เครื่องมือในการเรียนการสอน 80 ล้านบาทด้วย สะท้อนได้ว่ารัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญในการผลิตกำลังคนสาขาเหล่านี้.

ภาพข่าวจากหนังสือพิมพ์ (click)

Loading