ถอดแบบ UniKL MIAT สร้างนักซ่อมเครื่องบินมาตรฐาน ‘EASA’

หนังสือพิมพ์ ประชาชาติธุรกิจ – ฉบับวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2559
ข้อมูลจาก Airbus ระบุว่า ในปี 2032 จะมีผู้โดยสารเครื่องบินเพิ่มขึ้น เป็น 6.7 พันล้านคน และ คาดการณ์ว่าจำนวนเครื่องบินจะเพิ่มขึ้น ปีละ 950 ลำ

ซึ่งในอีก 6 ปีข้างหน้า ทั้งโลกจะมีจำนวนเครื่องบินรวมกว่า 35,600 ลำ ดังนั้น อุตสาหกรรมอากาศยานจะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างอนาคต ให้แก่ประเทศไทย จึงควรต้องเตรียม ความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางด้านอากาศยานโดยเร่งด่วน ทั้งยังต้องเร่งผลิตบุคลากรรองรับทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพเช่นกัน
ด้วยความสำคัญดังกล่าว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ จึงเปิดสอนในหลักสูตรด้านการฝึกอบรมช่างซ่อมบำรุงอากาศยานในเดือนเมษายนนี้ และก่อนหน้านั้นมีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมชมการจัดการหลักสูตรด้านซ่อมบำรุงอากาศยานที่ University Kuala Lumpur Malaysia Institute of Aviation Technology (UniKLMIAT) ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ได้รับรองหลักสูตรจาก EASA ที่เดียวในประเทศมาเลเซีย
“ดร.สาธิต พุทธชัยยงค์” อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ กล่าวว่า การไปเยี่ยมชมครั้งนี้ไม่ใช่เพียงการทำเพื่อ มทร.กรุงเทพ แต่เป็นการทำเพื่อประเทศไทยด้วย เพราะปัจจุบันการเติบโตด้านสายการบินเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Airlines) แต่ทางด้านการซ่อมบำรุงเครื่องบินมีมูลค่ามหาศาลกลับเติบโตไม่สอดคล้องกัน
ประเทศที่มีส่วนแบ่งการตลาดด้านศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานสูงสุดในภูมิภาคนี้ คือ จีน, สิงคโปร์ และมาเลเซีย สถาบัน การบินพลเรือนให้ข้อมูลว่า ภูมิภาคเอเชียยังคงมีความต้องการบุคลากรภาคพื้นการบิน ด้านการควบคุมจราจรทางอากาศ รวมถึงฝ่ายช่างอากาศยานกว่า 40,000 อัตรา
“มทร.กรุงเทพจึงจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมซ่อมบำรุงอากาศยาน ภายใต้โครงการจัดตั้งสถาบันการบินแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพใน 2 สาขา คือ สาขาแมคคานิกส์ และสาขาการควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ภายในเครื่องบิน ซึ่งเป็นการเรียนการสอนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ที่มุ่งเน้นผลิตบุคลากรซ่อมบำรุงอากาศยานตามมาตรฐานวิชาชีพสากลที่พร้อมทำงาน ทั้งยังสามารถนำใบประกาศนียบัตรไปใช้ในการสอบรับใบอนุญาตมาตรฐานระดับสากลในอนาคต จนทำให้ผู้สำเร็จ การศึกษาสามารถทำงานในระดับนานาชาติ โดยมีผลตอบแทนค่อนข้างสูง”
มาตรฐานหนึ่งของการซ่อมบำรุงอากาศยานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล คือ องค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป หรือ EASA ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดในประเทศไทยที่ผลิตช่างซ่อมบำรุงอากาศยานตามมาตรฐาน EASA Part 147 ยกเว้น มทร.กรุงเทพ เพราะเราลงนามสัญญาความร่วมมือเป็นเวลา 8 ปี กับแอโร่ บิลดุง (AERO-Bildungs GmbH) ประเทศเยอรมนี หนึ่งในตัวแทนพัฒนาและอบรมบุคลากรตามมาตรฐานของ EASA ที่จะส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาควบคุมกำกับดูแลการเรียนการสอนในประเทศไทย ทั้งยังส่งคณะอาจารย์ไปอบรมที่ประเทศเยอรมนี จำนวน 16 คน เพื่อผลิตบุคลากรตามมาตรฐาน EASA
“ผศ.ปราโมทย์ อนันต์วราพงษ์” คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ กล่าวเสริมว่า การมาเยี่ยมชม UniKL MIAT ครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่มีบริบทคล้ายกับ มทร.กรุงเทพ เพราะฉะนั้น การที่มาเยี่ยมชมที่นี่ก็เหมือนเป็นตัวอย่างให้ได้กลับไปพัฒนา
ความคืบหน้าจากการเยี่ยมชมครั้งนี้ ทำให้ในเดือน พ.ค. 2559 ทางอธิการบดีของ University Kuala Lumper (UniKL) ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้บริหารของ UniKL MIAT จะไปเยี่ยมชม มทร.กรุงเทพ ทั้งยังวางแผนที่จะทำ MOU ร่วมกัน เพื่อแลกเปลี่ยนทางด้านวิชาการ อาจารย์ และนักศึกษา ในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม นอกจากเรื่องการบินแล้ว ทาง UniKL ยังสนใจที่จะทำ MOU ร่วมกับเราในเรื่องอาหารฮาลาลด้วย
“เรามั่นใจว่าภายในปี 2020 มทร.กรุงเทพ จะมีความพร้อมได้เท่ากับ UniKL MIAT เพราะเราจะนำเรื่องห้องแล็บของที่นี่ไปปรับใช้ เขามีพร้อมมากด้วยการที่มีองค์กรภาครัฐทุ่มทุนให้สูงมาก และตอนนี้ ที่นี่มีความพร้อมเรื่องบุคลากรอาจารย์ โดยมี 128 คน แต่ที่สอน EASA มี 50 คน ซึ่งตัวเลขนี้เขาใช้เวลา 20 ปีในการผลิต สำหรับเราในปีแรกมีอาจารย์ 8 คน และอีก 5 ปีเราจะเพิ่มมากกว่านี้เท่าตัว โดยปี 2023 เป็นต้นไป เราตั้งใจว่าจะเป็น ผู้อนุมัติใบรับรอง EASA ได้โดยตรง เหมือนที่ทาง UniKL MIAT ทำได้”
หลักสูตรลักษณะนี้ทั่วโลกเป็นหลักสูตรซ่อมเครื่องบินพื้นฐาน เมื่อนักศึกษาเรียนจบจะรับประกาศนียบัตรที่รับรองโดย EASA (Recognition Certificate by EASA) และเมื่อเขาเข้าทำงานยังจะได้ฝึกกับบริษัทต่าง ๆ แบบเจาะลึกในการซ่อมแต่ละส่วนของเครื่องบิน ทั้งยังสามารถสอบใบรับรอง EASA ในส่วนอื่น ๆ ได้
ขณะที่ “ศ.ดาโต๊ะ ดร.มาซลีฮัม มุฮัมมัด ซูด” อธิการบดี/ประธานบริหาร UniKL กล่าวว่า UniKL เป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ ก่อตั้งในปี 2002 เป็นสถานศึกษาหลายระดับ ไม่ว่า จะเป็นประกาศนียบัตรวิชาชีพ ปริญญาตรี และการศึกษาที่สูงกว่าปริญญาตรี เรามี 11 วิทยาเขต ซึ่งแต่ละแห่งล้วนมุ่งเน้น การเป็นที่หนึ่งในแต่ละศาสตร์วิชาที่ ต่างกัน เช่น เทคโนโลยีอาหาร, เทคโนโลยีสารสนเทศ, พลังงานน้ำมันและก๊าซ และอากาศยาน เป็นต้น มีนักศึกษาทั้งหมดจากทุกวิทยาเขตรวมกว่า 30,000 คน และสำหรับภาควิชาอากาศยาน เราเรียนที่วิทยาเขต UniKL MIAT ซึ่งมีนักศึกษาประมาณ 2,700 คน
“จุดแข็งของ UniKL MIAT คือการมีครูผู้สอนที่มีคุณภาพ ซึ่งนำมาสู่การพัฒนา ผู้เรียนในสาขานี้ รวมถึงมีสัมพันธภาพที่ดีกับองค์กรธุรกิจการบินในประเทศ เพราะไม่ต้องการผลิตบุคลากรที่มีทักษะไม่ตรงกับความต้องการขององค์กรเหล่านั้น เราจึงมีความร่วมมือกับองค์กรซ่อมบำรุงเครื่องบิน ที่ให้ผู้เรียนของเราได้ไปฝึกฝนการ ทำงานจริง เพื่อสร้างความชำนาญให้ผู้เรียน เราเน้นว่านักเรียนของเราต้องสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี เพราะจะ ทำให้หางานได้กว้างขวางขึ้น ไม่จำกัดเพียงงานในประเทศมาเลเซีย และมีความสามารถเป็นผู้ประกอบการที่จะสามารถผันตัวเป็นเจ้าของธุรกิจสายการบินได้ในอนาคต”
สำหรับ “ตนุภัทร ลิ่มหัน” นักศึกษาปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมซ่อมบำรุงอากาศยาน ปีที่ 3 UniKL MIAT ซึ่งเป็นคนไทยที่มาศึกษา ณ มหาวิทยาลัยแห่งนี้ บอกว่า สนใจเรียนด้านซ่อมบำรุงอากาศยานเพราะเป็นความชอบส่วนตัว และเมื่อ 4-5 ปีที่แล้วการซ่อมบำรุงอากาศยานเป็นอะไรที่แปลกใหม่ รวมถึงในตอนนั้นประเทศไทยยังไม่มีสถาบันการศึกษาภายใต้ มาตรฐาน EASA
“UniKL MIAT มีความพร้อมในการสอนการซ่อมอากาศยาน ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งที่เยาวชนมาเลเซียทั้งชายและหญิงสนใจมาเรียนมาก ค่าเล่าเรียนที่นี่ประมาณ 8,000 ริงกิตต่อเทอม ซึ่งถูกกว่าสถานศึกษาหลายแห่งในประเทศมาเลเซียและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก”
“เมื่อผมจบจากที่ UniKL MIAT จะกลับไปทำงานที่ประเทศไทย เพราะการทำงานในไทยเติบโตได้ง่ายกว่าที่มาเลเซีย เนื่องจากเราเป็นคนต่างชาติ โอกาสจะน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับคนสัญชาติมาเลเซีย แต่ข้อดีการมาเรียนที่นี่คือภาษาอังกฤษของประเทศมาเลเซียอยู่ในระดับที่ดี สายงานด้านอากาศยานต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นปัจจัยสำคัญ”
นับเป็นหลักสูตรที่ให้ความสำคัญในเรื่องมาตรฐานวิชาชีพมากกว่าคุณวุฒิปริญญา ซึ่งจะช่วยผลิตบุคลากรที่มีทักษะปฏิบัติงาน ตอบสนองความต้องการของประเทศอย่างแท้จริง

ภาพข่าวจากหนังสือพิมพ์ (click)

Loading